Custom Search

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง/ท่องเที่ยวน้ำตก ไทยคึกคัก


น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนเป็นจุดเด่นและแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ประกอบกับทางอุทยานฯได้มีการจัดการบริเวณโดยรอบให้มีความสวยงาม จัดให้มีบริการรองรับนักท่องเที่ยวได้ดีมาก ทั้งนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน ไปจนถึงที่มาเป็นหมู่คณะใหญ่ๆ น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนเสมือนจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเชิงสุขภาพ อาณาบริเวณถูกจัดแต่งโล่งเตียนจนแทบจะเป็นสวนสาธารณะ หรือสวนพฤกษาชาติขนาดใหญ่ เช้าๆหรือช่วงเย็นๆสามารถออกวิ่งไปตามเส้นทางในอุทยานฯ หรือถีบจักรยานออกกำลังกายได้อย่างสะดวกสบาย บ้านพักรับรองก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกเต็มที่ แถมยังมีห้องอาบน้ำแร่ทั้งแบบรวมและแบบส่วนตัว ให้ลงนอนแช่กันอย่างสุขอารมณ์ หรือแค่ไปนอนพักตากอากาศก็ย่อมเกิดผลต่อสุขภาพได้เป็นอย่างดี

แหล่งน้ำพุร้อนบ้านแจ้ซ้อน เกิดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มหุบเขาใกล้น้ำแม่มอน ซึ่งปกคลุมด้วยตะกอนยุคควอเทอร์นารี ประกอบด้วยบ่อน้ำร้อนที่ปรากฏบนผิวดินหลายบ่อ มีทั้งที่เป็นแบบ บ่อน้ำร้อน (Hot pool) และแบบบ่อน้ำร้อนที่ไหลซึมขึ้นมา (Seep) มีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 81 องศาเซลเซียส บริเวณของตัวแหล่งน้ำพุร้อนจะคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ (300 x 400 ตารางเมตร) พบก้อนหินมนใหญ่ (Boulders) ซึ่งเป็นหินแกรนิต (Granite) และหินควอร์ตไซต์ (Quartzite) กระจายอยู่ทั่วไป น้ำพุร้อนส่วนใหญ่จะไหลมารวมกัน แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมอน บริเวณน้ำพุร้อนตรวจพบแร่เปลี่ยนสภาพ (Alteration minerals) ส่วนใหญ่เป็นแร่ควอรตซ์และแร่ซิลิกาไร้รูปผลึก (Amorphous silica) น้ำพุร้อนบ้านแจ้ซ้อนไหลขึ้นมาสู่ผิวดินตามรอยเลื่อนและรอยแตกที่สำคัญในหิน ยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน รอยเลื่อนเหล่านี้อยู่ในแนวเหนือใต้ (NS) และแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (NW-SE) อัตราการไหลของน้ำร้อนวัดได้ประมาณ 15 ลิตรต่อวินาที และคำนวณอุณหภูมิน้ำร้อนขณะอยู่ใต้ดิน (Subsurface temperature) ได้ค่าประมาณ 149 องศาเซลเซียส

ถัดจากบ่อ น้ำพุร้อนเป็น"แอ่งน้ำอุ่น" ที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิพอเหมาะแก่การ แช่อาบคือประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส และยังต่อท่อตรงจากบ่อน้ำพุร้อนมายัง ห้องอาบน้ำแร่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสธรรมชาติของน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน อย่างแท้จริง และบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยให้ โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น และยังช่วยรักษษโรคผิวหนัง อาทิ กลาก เกลื้อน ผื่นคันได้อีกด้วย แต่น้ำแร่จากของที่นี่ไม่สามารถใช้ดื่มได้ เพราะมีแร่ธาตุบาง ชนิดสูงกว่ามาตรฐาน หากดื่มเข้าไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้




การเดินทางไปยังน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

แหล่งน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มระหว่างเขาใกล้กับน้ำแม่มอน การเดินทางเข้าสู่บริเวณแหล่งน้ำพุร้อน สามารถใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 1035 จากจังหวัดลำปางถึงอำเภอแจ้ห่ม เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากอำเภอแจ้ห่มใช้ถนนสายแจ้ห่ม-วังเหนือ แยกเข้าอำเภอเมืองปานตรงหลักกิโลเมตรที่ 14 วิ่งไปทางทิศตะวันตกตามถนนลูกรังอีกประมาณ 17 กิโลเมตร ผ่านบ้านสบลี บ้านแจ้ซ้อน และเข้าถึงแหล่งน้ำพุร้อน

กิจกรรมที่น่าสนใจในน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

อาบน้ำแร่

ชมทิวทัศน์

สิ่งน่าสนใจอื่นๆในน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอน มีน้ำไหลตลอดปี มีแอ่งน้ำรองรับตลอดสาย ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ มีความสูงทั้งหมด 6 ชั้นในแต่ละชั้นจะมีความสวยต่างกันออกไป อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพียง 1 กิโลเมตร มีทางเดินไปถึงได้สะดวก และสามารถเดินจากบ่อน้ำพุร้อนไปถึงน้ำตกได้เช่นกัน

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

ตลอดทั้งปี

ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยวน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

ค่าเข้าชมอุทยานฯ คนไทย ผู้ใหญ่ คนละ 40 บาท เด็ก คนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ คนละ 200 บาท เด็ก คนละ 100 บาท




คำแนะนำในการท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีจุดบริการต่างๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนัก ท่องเที่ยว ดังนี้

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สำหรับให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุทยานฯ ตลอดจน ให้คำแนะนำต่างๆแก่นักท่องเที่ยว

ห้องอาบน้ำแร่ จัดไว้บริการ 3 รูปแบบ คือ ห้องแช่ส่วนตัวจำนวน 41 ห้อง ห้องแช่รวม 1 ห้อง และยังได้จัดสระน้ำแร่ กลางแจ้ง ทั้ง 3 รูปแบบจัดไว้บริการนัก ท่องเที่ยวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. และในวันหยุดเปิดบริการ ตั้งแต่ 06.00 – 19.00 น. นอกจากนี้ยังมีนวดแผนโบราณไว้บริการสำหรับนักท่อง เที่ยวที่สนใจอีกด้วย

บ้านพักนักท่องเที่ยว ที่จัดสร้างอยู่บนเนินเขา สามารถนำรถยนต์เข้าถึงได้ มีทั้งสิ้นจำนวน 12 หลัง สามารถรองรับ นักท่องเที่ยวได้ทั้งสิ้น 80 คน

ค่ายพักและแค้มป์ไฟ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นคณะใหญ่ๆ โดยมีค่ายพัก จำนวน 2 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยว ได้จำนวน 80 คน

สถานที่กางเต็นท์ มีเต็นท์และเครื่องนอนไว้คอยบริการสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อุทยานฯแจ้ซ้อนได้จัดสร้างฐานสำหรับกาง เต็นท์ไว้เป็นจุดๆ มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันในแต่ละฐาน มีปลั๊กไฟ เตาปิกนิก ถัง ขยะ ที่ล้างจาน และห้องน้ำ ที่จัดสร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติ อัตราค่าบริการที่ กางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน

ร้านค้าสวัสดิการของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่มีอาหารและเครื่องดื่มไว้คอย บริการ โดยจะต้องสั่งจองล่วงหน้ากับทางอุทยานฯ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าเล็กๆ อีก ประมาณ 30 ร้าน ที่ให้บริการด้านอาหาร ซึ่งทาง อุทยานฯได้ควบคุมดูแลความสะอาดให้ ถูกหลักอนามัย

นอกจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนยังมีสโมสร ไว้สำหรับประชุมสัมมนา หรือ ทำกิจกรรมต่างๆ โดยสโมสรนี้สามารถ จุคนได้ประมาณ 100 คน




หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ. เมืองปาน จ. ลำปาง 52240

โทรศัพท์ 0 5438 0000, 08 9851 3355 โทรสาร 0 5438 0457 (VoIP) อีเมล chaeson2007@hotmail.com

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง/ท่องเที่ยวน้ำตก ไทยคึกคัก





























อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของสันเขาผีปันน้ำตะวันตก ทอดตัวตามแนวทิศเหนือสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรื่อยไปทางทิศใต้จนถึงอำเภอแม่พริก ซึ่งเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 300-2,031 เมตร ประกอบด้วย ดอยสันผักกิ้ง ดอยชายแดน ดอยแม่กา ดอยตะไคร้ ดอยต๋ง ดอยวังหลวง ดอยห้วยหลอด ผาหลักไก่ ม่อนทางเก้า ดอยแม่บึก ม่อนจวง ดอยแม่มอน และดอยแปเมือง มียอดเขาสูงที่สุดคือ ดอยลังกา

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 768 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1-A ของลุ่มน้ำวัง ประกอบด้วยลำน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมากที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่หมี น้ำแม่ต๋อม น้ำแม่สอย น้ำแม่มอน น้ำแม่ปาน น้ำแม่ฮะ น้ำแม่ปอม น้ำแม่บึง น้ำแม่สุ่ย และน้ำแม่ค่อม เป็นต้น และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญเป็นสาขาของแม่น้ำวัง เช่น แม่น้ำสอย ห้วยแม่กา ห้วยแม่ปาน

นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินเป็นแหล่งน้ำพุร้อน บริเวณกว้างถึง 2,400 ตารางเมตร มีน้ำพุร้อนผุดจากบ่อเล็กถึง 9 บ่อ เต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ มีอัตราการไหลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีอัตราการไหลประมาณ 15 ลิตร/วินาที อุณหภูมิระหว่าง 39-47 องศาเซลเซียส ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือช่วงเดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูง และเป็นแหล่งที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัสในการใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาประยุกต์อย่างสอดคล้องเป็นประโยชน์ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และการ รักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) ปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยมในด้านการออกแบบสิ่งอำนวยความ สะดวกในอุทยานฯ ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อมภายในอุทยานฯ ยังตกแต่งได้อย่างสวยงามไม่แพ้รีสอร์ทเอกชน เหมาะสำหรับผู้ที่จะไปเที่ยวแบบครอบครัว สามารถเที่ยวได้ตลอดปี ฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมากที่สุด

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติได้ดังนี้

จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) จนถึงปากทางเข้าอำเภอแจ้ห่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร จนถึง กม.ที่ 58 เลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 ซึ่งผ่านอำเภอเมืองปาน และเลี้ยวไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) เป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กม. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 อีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

กิจกรรมที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

เที่ยวชมน้ำพุร้อน

เดินป่าศึกษาธรรมชาติ

แค้มป์ปิ้ง

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือช่วงเดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

ค่าเข้าชมอุทยานฯ คนไทย ผ้ใหญ่ คนละ 40 บาท เด็ก คนละ 20 บาท ขาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ คนละ 200 บาท เด็ก คนละ 100 บาท

คำแนะนำในการท่องเที่ยว

บ้านพักในอุทยานมีจำนวน 11 หลัง พักได้หลังละ 3-15 คน ราคา 900-3,600 บาท

ค่ายพักแรม พักได้ 40 คน ราคา 4,000 บาท

อุทยานฯ มีเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวเช่า พักได้ 2-5 คน ราคา 150-225 บาท

นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าสถานที่กางเต็นท์ คนละ 30 บาท/คืน

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ. เมืองปาน จ. ลำปาง 52240

โทรศัพท์ 0 5438 0000, 08 9851 3355 โทรสาร 0 5438 0457 (VoIP) อีเมล chaeson2007@hotmail.com


อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย/ท่องเที่ยวน้ำตก ไทยคึกคัก

























อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

สืบเนื่องจากการที่ "พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชประสงค์สงวนป่าบริเวณตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งในบริเวณนี้ประกอบด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่านานาชนิด ราษฎรในแถบนี้และใกล้เคียงได้รับความสมบูรณ์จากน้ำที่เกิดจากพื้นที่ต้นน้ำ ลำธารในพื้นที่ป่าแห่งนี้ กรมป่าไม้ควรสงวนไว้เป็นวนอุทยาน" ตามหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ถึงกรมป่าไม้ในปี 2519 กรมป่าไม้จึงได้สำรวจพื้นที่ และเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ใช้ชื่อว่าอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สินป่าแม่สาน ป่าแม่สูงฝั่งซ้าย และ ป่าแม่ท่าแพ ในท้องที่ตำบลแม่ล้น ตำบลแม่สำ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย และตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 70 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 26 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 213.20 ตารางกิโลเมตร และต่อมากรมป่าไม้ได้ดำเนินการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในท้องที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ประมาณ 106 ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 319 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เดิมชื่อป่าคา หมายถึงป่าคาหลวง หรือสันกลางแม่วังช้าง ตั้งอยู่ที่บ้านป่าคา หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านแก่ง มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าคาขนาดใหญ่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าแพ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะสัณฐานเป็นเทือกเขา ป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบเขา สัตว์ป่าที่พบได้แก่ กระแต เสือไฟ อีเห็นข้างลาย เลียงผา เต่าปูลู มีทิวทัศน์งดงาม สงบเงียบ อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว

ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย (ป่าคา) มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดดาว น้ำตกตาดเดือน น้ำตกห้วยทรายขาว ถ้ำธาราวสันต์ ถ้ำค้างคาว เป็นต้น ลักษณะการท่องเที่ยวในอุทยานฯเหมาะแก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก (มีนกประจำถิ่นและนกอพยพนานาชนิดมากถึง 145 ชนิด) และการตั้งแค้มป์พักผ่อน

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

รถยนต์

จากจังหวัดสุโขทัยสามารถใช้เส้นทางได้ 2 ทางเส้นทางแรก จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 12 เส้นสุโขทัย-ตาก เลี่ยงเมืองไปประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข 1113 มาถึงสี่แยกสารจิตรแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 1294 เข้าสู่อุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร

เส้นที่สอง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 101 เส้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ถึงอำเภอศรีสัชนาลัยให้เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย ทางหลวงหมายเลข 1035 ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 1249 เข้าสู่อุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 122 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง

มีรถออกจากอำเภอศรีสัชนาลัย เป็นรถสองแถว จอดตรงข้ามสถานีตำรวจ อำเภอศรีสัชนาลัย มีรถออกก่อนเที่ยง วันละ 1 เที่ยว ใช้เวลาเดินทาง 50 นาที อัตราค่าโดยสารคนละ 30 บาทในกรณีที่เดินทางเป็นหมู่คณะ อาจจ้างเหมาจากท่ารถดังกล่าวเข้าไปอุทยานฯ ได้ ราคาค่าจ้างเหมาต่อเที่ยวประมาณ 600-800 บาท

กิจกรรมที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา - เที่ยวน้ำตก - ชมทิวทัศน์

นอกจากนั้นทางอุทยานฯ ได้จัดทำ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ไว้ 2 เส้นทาง

เส้นทางแรก ได้แก่ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติชมตะวัน เป็นเส้นทางที่อยู่บนไหลเขา มีความลาดชันปานกลาง ผ่านร่องน้ำในบางช่วง ตลอดเส้นทางเป็นป่า เบญจพรรณ นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของอุทยานฯ และระหว่างเส้นทางสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าได้ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาตินี้มีทั้งหมด 14 สถานี แต่ละสถานีทางอุทยานฯ ได้จัดทำป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ ไว้เป็นระยะ ๆ ใช้เวลาในการเดิน 2-3 ชั่วโมง เป็นระยะทางไป-กลับ 5,500 กิโลเมตร

เส้นทางที่สอง ได้แก่ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติห้วยแม่ท่าแพ ลักษณะของเส้นทางเป็นเส้นทางที่ต้องเดินวนกลับ ระหว่างทางเดินสามารถพบกับสัตว์ป่าได้ เช่น ผีเสื้อ เก้ง หมูป่า กระรอก ลักษณะของป่าเป็นป่าดงดิบแล้งผสมกับป่าเบญจพรรณ ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร

สิ่งน่าสนใจอื่นๆในอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

ถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก และเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวนับแสนตัว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 20 กิโลเมตร

ถ้ำธาราวสันต์ เป็นถ้ำหินปูนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ลักษณะเป็นลานกว้างเป็นชั้นๆ ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่

น้ำตกตาดดาว มีต้นกำเนิดจากห้วยแม่ท่าแพ ตกผ่านหน้าผา สูงประมาณ 50 เมตร มีถึง 3 ชั้น เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม ในช่วงฤดูที่มีน้ำมาก ละอองของน้ำตกจะฟุ้งกระจายไปทั่ว และสะท้อนแสงแดดเกิดเป็นสายรุ้งงดงาม

น้ำตกตาดเดือน เป็นน้ำตกที่อยู่ในห้วยท่าแพ สูงประมาณ 10 เมตร ลำน้ำไหลคดเคี้ยวตกลงแอ่งน้ำลึก สามารถลงเล่นน้ำได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพียง 500 เมตร

น้ำตกปากะญอ เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีหลายชั้น บางชั้นเป็นลักษณะของสไลด์เดอร์ สูงสวยงาม อยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ห่างประมาณ 12 กิโลเมตร

น้ำตกแม่สาน ต้นกำเนิดจากห้วยแม่สาน เป็นน้ำตกหินปูนมีหลายชั้น ไม่สูงมากนัก ลดหลั่นกันสวยงาม อยู่ใกล้กับ ถ้ำแม่สาน บริเวณเขาผาจ่อ ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก

น้ำตกห้วยทรายขาว เกิดจากลำห้วยทรายขาว มี 7 ชั้น ลดหลั่นกันไปอยู่ใจกลางขุนเขาและแมกไม้อันสงบเงียบ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 3 กิโลเมตร

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

ตลอดปี

ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท ชาวต่างชาติ เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท

คำแนะนำในการท่องเที่ยว

ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 6 หลัง พักได้ 4-8 คน ราคา 300-800 บาท/คืน และทางอุทยานฯ ได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเอง เสียค่าพื้นที่ 10 บาท/คืน หรือจะเช่าเต็นท์ของทางอุทยานฯ พักได้ 2-8 คน ราคา 40-120 บาท/คืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติ ศรีสัชนาลัย ตู้ ปณ. 10 ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130 โทร. 0 5561 9214-5 หรือที่ติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย ตู้ ปณ.10 ต.บ้านแก่ง อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130

โทรศัพท์ 0 5591 0002-3 ,08 1887 9897 อีเมล sisatcha_14@hotmail.com


น้ำตกสายทิพย์ จังหวัดอุตรดิตถ์/ท่องเที่ยวน้ำตก ไทยคึกคัก



ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว น้ำตกสายทิพย์

ภาพทิวทัศน์อันสุดสวยบนลานสน ภาพทิวสนสามใบเต็มลานบนยอดภูสอยดาว ภาพทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ใต้เงาสนที่ดารดาษด้วยดอกไม้ดิน ที่ชูช่อผลิดอกหลากสีเป็นกลุ่มๆ อวดสีสันสีดอกของสายพันธุ์ดอกหงอนนาคจะมีดอกสีม่วง ดอกสร้อยสุวรรณาจะมีดอกสีเหลือง และดอกหญ้ารากหอมจะมีดอกสีม่วงเข้ม สะกิดห้วงความคิดของเราให้รู้ว่า แม้ดอกดินที่ดูไร้ค่าก็ยังแต่งแต้มสีสัน ให้ภูสอยดาวงามพิสุทธิ์ไม่น้อยไปกว่าที่ใดในเมืองไทย

ภูสอยดาวยังมอบรางวัลล้ำค่าให้ผู้คนที่ดั้นด้นมาเยือนจนถึงภู เป็นรางวัลของความสำเร็จจากการเดินทางในเส้นทางที่ลาดชันกว่า 5 ชั่วโมง ด้วยน้ำตกสวยท่ามกลางความสดของธรรมชาติ น้ำตกสายทิพย์ น้ำตกที่อบู่ท่ามกลางผืนป่าที่ชุ่มชื้นมาก บนรอยต่อของป่าดิบชื้นและป่าสนเขา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีสายน้ำไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นเตี้ยๆ รวม 7 ชั้น ความสูงแต่ละชั้นประมาณ 5-10 เมตร ฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมองดูสวยงามมากและมีน้ำไหลตลอด สภาพป่าโดยรอบน้ำตกมีความชุ่มชื้นมาก จึงมีมอสสีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วไปตามก้อนหินริมน้ำ

ไปน้ำตกสายทิพย์ จากลานสนมีทางเดินเส้นเล็กๆ ค่อนข้างชันลักเลาะผ่านป่าชุ่มชื้นในหุบเขาทางด้านตะวันออกของป่าสน เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ มีทั้งเฟิร์นชนิดต่างๆ เช่น เฟิร์นตีนตุ๊กแก เฟิร์นข้าหลวง รวมไปถึงดอกไม้ป่า และกล้วยไม้ป่าต่างๆ เช่นดอกเอื้องดิน ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายาก แล้วก็ยังมีต้นมะขามโบราณ ต้นหวาย ต้นกล้วยป่าต้นสูงใหญ่ผิดจากกล้วยธรรมดา รวมไปถึงเห็ดต่างๆ ทั้งแบบที่กินได้และกินไม่ได้

น้ำตกสายทิพย์เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีสายน้ำไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นเตี้ยๆ รวม 7 ชั้น ความสูงแต่ละชั้นประมาณ 5-10 เมตร ฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมองดูสวยงามมากและมีน้ำไหลตลอด สภาพป่าโดยรอบน้ำตกมีความชุ่มชื้นมาก จึงมีมอสสีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วไปตามก้อนหินริมน้ำ ที่ช่วยสร้างความงามให้ยิ่งมากขึ้นไปอีกนอกจากความงามของพริ้วสายน้ำ ซึ่งสายน้ำจากน้ำตกสายทิพย์นี้จะไหลต่อไปเป็นลำน้ำภาค จากนั้นจึงไหลลงสู่แม่น้ำแดงน้อย หล่อเลี้ยงคนในอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลกต่อไป




การเดินทางไปยังน้ำตกสายทิพย์

ต้องเดินทางเท้าจากน้ำตกภูสอยดาวริมเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1268 ขึ้นสู่ยอดภูสอยดาวระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 4-6 ชั่วโมง จากลานสนมีทางเดินเท้าไปยังน้ำตกสายทิพย์

กิจกรรมที่น่าสนใจในน้ำตกสายทิพย์

- เที่ยวน้ำตก

- ชมพรรณไม้

สิ่งน่าสนใจอื่นๆในน้ำตกสายทิพย์

น้ำตกหลุมพบ

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวน้ำตกสายทิพย์

- ช่วงเดือนกันยายน - ต้นพฤศจิกายน บนลานสนภูสอยดาวจะเต็มไปด้วยพรรณไม้ดอกนานาชนิด น้ำตกมีน้ำมาก

- ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน - กลางเดือนมกราคม เป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น เหมาะแก่การสัมผัสความหนาวเย็นพร้อมชมทิวทัศน์ที่สวยงาม




ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยวน้ำตกสายทิพย์

ชาวไทย ผู้ใหญ่คนละ 40 บาท เด็กคนละ 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่คนละ 200 บาท เด็กคนละ 100 บาท

คำแนะนำในการท่องเที่ยว

ในช่วงตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-31 มิถุนายน ของทุกปี อุทยานแห่งชาติปิดการพักแรมบนลานสนภูสอยดาว

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ 53110

โทรศัพท์ 0 5543 6001-2 อีเมล phusoidao07@hotmail.com